ช่างภาพงานแต่งงาน ช่างหลัก กับ ช่างแคนดิด ใครต้องเก่งกว่ากัน?

(คำถาม)

นั่งดูรูปช่างภาพ freelance มาหลายเจ้า มีถูกใจอยู่เยอะมาก กะว่ายังไงก็ไม่ซื้อแพคเกจสำเร็จตาม Wedding studio แน่ๆแต่สุดท้าย ก็เสร็จเค้าจนได้ค่ะ เพราะดันไปถูกใจชุดแต่งงานเค้าเข้าสิ่งที่ได้มาด้วยคือช่างภาพงานเช้า 1 คน งานเย็น 1 คน + วีดีโอตอนเย็น 1 คน ผลงานก็ยังไม่เคยเห็นเลย กลัวว่าจะได้รูปที่ไม่ถูกใจค่ะ 


และอีกอย่างคือ ตัดใจจากช่างภาพ freelance ที่เคยดูไว้ไม่ได้ คิดว่าจะจ่างช่างมาเพิ่มอีกช่วงละ 1 คน แต่สงสัยว่า ช่างหลัก (ที่ถ่ายพิธีการต่างๆ ถ่ายหน้า backdrop) ควรเป็นช่างที่มีฝีมือมากกว่า หรือ ใครๆก็ถ่ายได้คะ เพราะแบบหน้า backdrop คิดเอาเองว่า ใครๆก็ถ่ายได้ แค่ยืนนิ่งๆเฉยๆ แต่ช่างแคนดิด ดูเป็นอะไรที่ต้องจับอารมณ์ ความรู้สึก ถึงจะได้รูปออกมาดีๆ สวยๆ แต่กลัวว่าจะไม่ได้อยู่ติดตามบ่าว-สาวมากนักรึเปล่า เพราะต้องไปถ่ายบรรยากาศต่างๆในงาน ไม่รู้ว่าที่เข้าใจนี่ถูกรึเปล่าน่ะค่ะ 

ช่างหลัก (ฟังชื่อดูสำคัญกว่า) แต่กลับใช้คนที่ยังไม่ทราบฝีมือ (อาจจะมีฝีมือน้อยกว่า) ช่างแคนดิด คิดว่าจะใช้ช่างภาพ freelance (คิดว่าเคยเห็นผลงาน และชอบ เลยมั่นใจกว่าน่ะค่ะ)

รบกวนช่วยแนะนำด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

(คำตอบ)

ผมว่าคำถามหัวกระทู้เป็นคำถามที่ไม่ค่อยถูกต้องครับ แต่เมื่ออ่านเนื้อหาในกระทู้แล้ว ผมมีคำแนะนำดังนี้...

- ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดว่าช่างภาพหลักหรือช่างภาพแคนดิดใครจะเก่งกว่ากัน
- สิ่งที่พึงตระหนักคือ ช่างภาพหลักกับช่างภาพแคนดิด ทำงานกันเป็นทีมเวิร์กได้ไหม หากมาจากคนละทีมไม่รู้จักกันมาก่อน

และจากที่คุณเขียนมาว่า "สงสัยว่า ช่างหลัก (ที่ถ่ายพิธีการต่างๆ ถ่ายหน้า backdrop) ควรเป็นช่างที่มีฝีมือมากกว่า หรือ ใครๆก็ถ่ายได้คะ"

- ส่วนนี้ขอตอบเลยว่า..ใครๆก็ได้ถ่ายครับ..แต่ถ่ายออกมาแล้วคุณภาพเป็นอย่างไรนั้นอีกเรื่องนึง...ช้ำใจทีหลังไม่รู้ด้วยนะ

ช่างภาพหลักนอกจากมีหน้าที่ถ่ายภาพอยู่บริเวณด้านหน้าบ่าวสาวแล้ว อันที่จริงมีหน้าที่สำคัญอยู่มากมายนอกจากถ่ายรูปหน้าตรงครับ อย่างทีมผมเองถ้าไปกันทั้งถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ ร่วมผู้ช่วยก็ต้องมีประมาณ5-6คนทุกคนในทีมผมมีวิทยุสื่อสารคอยสื่อสารกันตลอด และศูนย์กลางของการสื่อสารทั้งหมดนี้ก็คือช่างภาพพิธีการ

ทุกคนในทีมเมื่อมีจังหวะที่ต้องการถ่ายหรือต้องการสื่อสารกับบ่าวสาวแบบให้ทันท่วงที ก็ต้องสื่อสารผ่านช่างภาพพิธีการ เพราะคนนี้คือคนที่อยู่ใกล้กับบ่าวสาวที่สุดตลอดเวลา เป็นคนคุมจังหวะการถ่ายภาพและวิดีโอให้กับทุกคนในทีม เป็นช่างภาพที่บ่าวสาวต้องคุยด้วยมากที่สุดตลอดทั้งพิธีหมั้นและฉลองสมรส เป็นรูปถ่ายที่เมื่อได้รับไปแล้ว แขกที่มาร่วมงานกับญาติผู้ใหญ่ขอดูรูปมากที่สุด เพราะจะมีรูปตัวเองชัวร์ๆ ก็ต้องได้จากช่างภาพพิธีการตอนไปถ่ายรูปกับบ่าวสาวนี่แหละ...

คุณมั่นใจได้แค่ไหนกับช่างภาพพิธีการที่คุณไม่เห็นผลงานมาก่อน ไม่เคยรู้จักมาก่อน?

เคสคล้ายๆที่คุณถามมาอันที่จริงมีเยอะ มีหลายครั้งที่สุดท้ายแล้วตัดสินใจเลือกให้ช่วงพิธีหมั้นตอนเช้า ใช้ช่างภาพ 1 คน ที่แถมมากับชุดนั่นแหละ แล้วตอนเย็นก็ค่อยเพิ่มช่างภาพมาอีกทีมเพราะคิดว่างานหมั้นช่วงเช้า แขกไม่เยอะไม่กี่สิบคน ช่างภาพคนเดียวก็คงเอาอยู่

เป็นความคิดที่ผิดถนัดเลยครับ

ประสบการณ์ตรงที่ผมเคยเจอกรณีแบบนี้ ที่ช่วงหมั้นตอนเช้าใช้ช่างภาพที่แถมมากับชุดแต่งงานถ่ายคนเดียว ตอนเย็นทีมผมไปถ่ายเพิ่ม แล้วในงานตอนเย็นมีการเอารูปช่วงเช้ามารันขึ้นจอฉายให้แขกในงานดู ในงานนั้นรูปดูแย่มากถึงมากที่สุด แย่ขนาดที่ผมต้องเดินไปคุยกับเซลส์โรงแรมที่ดูแลงานนั้นที่รู้จักกับผมว่างานช่วงเช้านั้นไม่ใช่ทีมผมถ่ายนะ คือ ออกตัวไปก่อนเลย เพราะผมดูแล้วถึงกับรับไม่ได้จริงๆ

แย่ถึงขนาดเด็กเสิร์ฟน้ำในงานมายืนดูกันแล้วหัวเราะเยาะกันคิกๆคักๆ


ผมล่ะไม่ชอบจริงๆกลยุทธ์ขายชุดแต่งงานพ่วงถ่ายภาพวันงานไปด้วยเนี่ย คือถ้าทำดีทั้งสองอย่างก็ไม่มีปัญหาครับ อนุโมทนา แต่บางที่ชอบใส่ไปยำรวมกันเพื่อให้ลูกค้าดูเหมือนได้รับของเยอะๆ ได้มาคุ้มสุดๆ มาทีเดียวครบเลย เพื่อให้บ่าวสาวนี่แหละ ตัดใจจากของที่อื่นที่ตัวบ่าวสาวเองอยากได้(อย่างในเคสนี้คือช่างภาพที่ดูไว้แล้ว ก็กลายเป็นว่าโดนตัดงบส่วนช่างภาพ เพื่อไปเทลงกับชุดแต่งงาน ที่ได้ช่างภาพวันงานเป็นของแถม)


อยากให้ว่าที่บ่าวสาวแต่ละคู่เลือกดูของที่ถูกใจเป็นอย่างๆไปดีกว่า ถ้าเข้าร้านนั้นเพราะคิดว่าชุดแต่งงานร้านนั้นสวย ต่อให้เค้าแถมช่างภาพวันงานเช้าเย็น+วิดีโอ ก็อย่าไปเอามาเลย วันที่สำคัญที่สุดของเราวันนึงในชีวิต ทำไมถึงไปมีค่าเป็นของที่แถมมากับชุดแต่งงานได้ล่ะทั้งที่เอาเข้าจริง วันงานแต่งงาน จัดแล้วก็ผ่านเลยไป ชุดแต่งงานใส่แล้วอีกไม่กี่วันก็เอาไปคืน สิ่งที่จะอยู่กับคุณนอกจากความทรงจำแล้ว ก็คือรูปถ่ายกับวิดีโอ

อย่าปล่อยให้ทุกครั้งที่เปิดรูปถ่ายกับวิดีโอมาแล้ว ต้องมีความคิดแว่บนึงโผล่เข้ามาว่า..รู้แบบนี้เลือกช่างภาพเองก็ดี 




Using Format